ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนเข้าสู่เทศกาลลอยกระทง
เรามีโจทย์ร่วมกัน คุณครูสาธิตฯ ชวนเด็กๆ สาธิตฯ ไม่ว่าจะเป็นอนุบาล ประถม มัธยม ช่วยกันคิดว่า “ถ้าไม่ลอยกระทง จะทำอะไร?”

มีกิจกรรมต่อเนื่อง แทรกผ่านช่วงจัดประสบการณ์ของพี่อนุบาล ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ของพี่ประถม และ learning skill ของพี่มัธยม

เราพบว่า…เด็กๆ
ทำกระทงกระดาษ
ทำกระทงขนมปัง
ทำกระทงผักผลไม้
ทำกระทงกรวยไอติม
ทำกระทงน้ำแข็ง

ปฐมวัย
ได้เรียนรู้การละเล่นเดิมๆ เช่น มอญซ่อนผ้า เสือกินวัว งานวัดปาโป่ง ในส่วนนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้ “caring and sharing” เตรียมของที่บ้าน ซึ่งบางส่วนเป็นของที่ “หนูไม่ได้เล่นแล้ว เอาไปเผื่อเพื่อนได้เล่น” และได้รู้จักพูดต่อหน้าชุมชน ขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่มาช่วย

ประถม
ได้ฝึกทำกระทงสร้างสรรค์ ทำกระทงน้ำแข็ง ทดลองวิทยาศาสตร์ไปในตัว คุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ได้มีเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เป็น “golden time” ที่ห่างหายไป เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ช่วงเวลาแบบนี้จะลดน้อยลง

มัธยม
ได้นั่งพับจับจีบใบตอง ช่วยกันทำกระทงใบตองของตัวเอง
บางคนเลือกลอยกระทงออนไลน์ บางคนก็เลือกที่จะไม่ลอย

ในส่วนมัธยม พี่ๆ มีความน่ารัก เพราะในวันรุ่งขึ้น เมื่อมีโอกาสถามสืบย้อนถึงการลอยกระทง ก็เล่าให้ฟังว่าไปลอยกระทงที่ไหน ยังไง กับใคร และเมื่อเอารูปกระทงเน่าเต็มหนองประจักษ์ให้ดู พี่ๆ ถึงกับหน้าเสีย… “ต้องมีกระทงของหนูอยู่ในนั้น”
บางคนพยายามหาแนวทางว่าจะช่วยลดขยะจากกระทงยังไง “ถ้าจะทำให้ลดลง เราจะทำยังไงดีฮะ” บางคนถามถึงการจัดการขยะต่อเนื่อง “เทศบาลเก็บมาแล้วจัดการยังไงคะ”
บางคนฉุกคิดว่า กระทงขนมปัง กรวยไอติมนั้น แม้ปลากินได้ แต่ก็มีส่วนที่ปลากินไม่ได้ “ปลากินตะปูไม่ได้นะครู” “แล้วกระทงมันเยอะมาก ปลามันคงอิ่ม”

การลอยกระทงออนไลน์ กระทงน้ำแข็งน่าจะเป็นคำตอบ
แต่ถ้าทุกคนลอยน้ำแข็ง ก็จะทำให้อุณหภูมิเย็นไปมั้ย มันแบบทำให้มันไม่ปกติ…ได้เล่าต่อว่า มันคือระบบนิเวศ
แล้วถ้าไม่ลอยกระทง…จะเป็นการไม่อนุรักษ์วัฒนธรรมไทยมั้ยนะ การลอยกระทงในสมัยสุโขทัย ทำไมทำได้ สภาพสังคมในอดีตต่างกับปัจจุบันอย่างไร…ส่วนนี้เชื่อมโยงหลักคิดทางประวัติศาสตร์

ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด
เด็กๆ ได้ฝึก คิด ถกเถียง รับฟังความเห็นต่าง และรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม

Loading

By admin